









เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2566 ชาวบ้านตำบลทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี และพื้นที่บริเวณใกล้เคียงจำนวนกว่า 1,000 คน ได้ทยอยเดินทางมารวมกัน ลงชื่อคัดค้านการก่อสร้างโรงงานขยะ ในนามของ บริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ 43 ไร่ ในเขตพื้นที่ ต.ทับกวาง ได้มีชาวบ้านหมุนเวียนขึ้นปราศัย พูดคัดค้านบนเวที ถึงความไม่โปร่งใสในการก่อสร้างโรงงานกำจัดขยะในพื้นที่ โดยนายปู แตงอ่อน สมาชิกสภาเทศบาลเมืองทับกวาง กล่าวว่า ตั้งแต่เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทางเทศบาลเมืองทับกวางได้มีการปรับแก้ผังเมือง บริเวณพื้นที่ก่อสร้างโรงงานกำจัดขยะ จากเดิมพื้นที่แห่งนี้ถูกกำหนดเป็นพื้นที่สีเขียว ซึ่งไม่สามารถทำการก่อสร้างโรงงานได้ แต่หากจำเป็นต้องมีการก่อสร้าง ต้องมีการทำประชาคม จากชาวบ้านพื้นที่โดยรอบ แต่ที่ผ่านมา ชาวบ้านทั้ง 5 หมู่บ้าน ไม่ได้รับแจ้งให้เข้าร่วมทำประชาคมเลยสักครั้ง แต่เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ชาวบ้านเพิ่งทราบว่าจะมีการก่อสร้างโรงงานกำจัดขยะขึ้นในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านเริ่มเห็นความไม่โปร่งใสในการก่อสร้างโรงขยะแห่งนี้ เนื่องจากมีการผ่านการทำประชาคมจากชาวบ้านมาแล้วอย่างถูกต้อง แต่กลับไม่มีชาวบ้านคนไหนทราบเรื่องการประชาคมที่เกิดขึ้นเลย จากนั้น นาย ปู แตงอ่อน สมาชิกสภาเทศบาลเมืองทับกวาง ได้ยื่นหนังสือร้องเรียน ต่อ นาง นิตยา ปัตตะแวว คณะทำงานรับเรื่องราวร้องทุกข์ด้านกฎหมายของประชาชนในคณะกรรมาธิการ การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อจะนำเรื่องทั้งหมดเข้าสู่สภา โดยผ่านคณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อไป










ทางด้าน นาง นิตยา ปัตตะแวว (คณะทำงานรับเรื่องราวร้องทุกข์ด้านกฎหมายของประชาชนในคณะกรรมาธิการ การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน) กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไป หลังจากที่เรารับหนังสือร้องทุกข์ของทางนี้แล้ว ก็จะเข้าคณะทำงานรับเรื่องราวร้องทุกข์ด้านกฎหมายของประชาชนต่อไป เพราะว่าในคณะทั้งหมด 60 กว่าคน ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการกรรมาธิการ การมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งตอนนี้วุฒิสภาได้ทำ (MOU)กับสภาทนายความ และก็มีคณะกรรมการจากสภาทนายความมาร่วมดำเนินการอยู่ด้วย ซึ่งเรามองดูแล้วว่าปัญหาทางนี้ เป็นปัญหาระดับประเทศ ในจังหวัดเราบางทีอาจจะยื่นตามขั้นตอนไป แต่ในขณะเดียวกันส่วนของสภา เขาก็จะทำเรื่องของเขาเหมือนกันว่า หลังจากมีการประชุมกันเสร็จแล้ว 1 2 3 4 จะทำอย่างไรต่อ เหมือนกับเรื่องรถไฟฟ้าความเร็วสูงของ อ.หนองแซง ตอนนั้นเราได้รับเรื่องไปแล้ว ก็มีการดำเนินการต่อ จนตอนนี้ประชาชนได้รับคำตอบที่พึงพอใจได้ในระดับนึงแล้ว และวันที่ 15 มีนาคม จะมีหน่วยงานของสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้ตรวจราชการลงมา ซึ่งตอนนี้เกิดจากถามเรื่องประชาพิจารณ์ ว่าประชาพิจารณ์ไปแล้ว ทำไมประชาชนยังมาคัดค้าน ซึ่งมันก็เกิดปัญหาเหมือนทั่วๆไป ตอนนี้เราดูแล้วว่าจังหวัดสระบุรีของเรา ก็สงสัยเหมือนกันว่าทำไมขยะถึงอยู่ในเมือง มันไม่เหมือนจังหวัดอื่นๆ เพราะจังหวัดอื่นของเขาขยะอยู่นอกเมือง แต่นี่อยู่ในอำเภอเมือง และเทศบาลเมืองอีก ซึ่งมันไม่ควรจะเป็น เพราะว่าในชุมชนก็ต้องไปรับผลกระทบ และในขณะเดียวกันก็มีโรงเรียนเด็กน้อย ที่จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะชาวบ้านเขาเคยเห็น ว่าแห่งแรกก็ยังมีปัญหา แก้ไขไม่ได้ อย่างที่ 2 เขาก็ต้องเกิดการตื่นตัวเป็นธรรมดา ดังนั้นเราก็คิดว่าในส่วนของเราที่เป็นตัวแทนคณะทำงานของวุฒิสภาตรงนี้ เราก็จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด