จังหวัดสระบุรี ขอเชิญเที่ยวงานประเพณีหนึ่งเดียวในโลก”ตักบาตรดอกเข้าพรรษาและถวายเทียนพระราชทาน”ระหว่างวันที่ 12 – 14 กรกฎาคม 2565 ณ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร.

- Advertisement -

วันที่ 1 ก.ค.65 เมื่อเวลา 15.30 น. ที่ ลานพิกุล วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี จัดให้มีพิธีแถลงข่าวการจัดงานประเพณี “ตักบาตรดอกเข้าพรรษา และถวายเทียนพระราชทาน” ประจำปี 2565 โดยมีนายเอกพร จุ้ยสำราญ รองผู้ว่าราชการ จ.สระบุรี เป็นประธาน พร้อมด้วย นางวชิราภรณ์ เพชรล้อม วัฒนธรรม จ.สระบุรี นางดวงเดือน สดแสงจันทร์ ท่องเที่ยวและกีฬา จ.สระบุรี นายชนัตถ์ นันทปัญญา รองนายกเทศมนตรีเมืองพระพุทธบาท และนายมงคล ศิริพัฒนกุล นายกสมาคมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จ.สระบุรี พร้อมด้วยแขกผู้มีเกียรติ แพทย์หญิงอังคณา อุปพงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระพุทธบาท นายธนกฤต อัตถะสัมปุณณะ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมในพิธี นายเอกพร จุ้ยสำราญ รองผู้ว่าราชการ จ.สระบุรี คณะกรรมจัดงานร่วมกัน เปิดเผยว่า วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวงเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ซึ่งถูกค้นพบในสมัย สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี อีกทั้งในพงศาวดารได้กล่าวไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทุกพระองศ์ในอดีต ตั้งแต่มีการค้นพบ “รอยพระพุทธบาท” ได้เสด็จมานมัสการรอยพระพุทธบาทที่ อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี ทุกปี ทำให้เกิดเป็นประเพณี “ตักบาตรดอกเข้าพรรษา”ที่ได้จัดสืบทอดกันมาเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาจนถึงปัจจุบัน ประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา นับเป็นประเพณีเปรียบเหมือนมรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่นของ อ.พระพุทธบาท และเป็นประเพณีที่สำคัญของ จ.สระบุรีที่ยึดถือปฏิบัติกันมาช้านาน เมื่อถึง วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี ประชาชนชาว อ.พระพุทธบาทและใกล้เคียง จะพากันเก็บดอกเข้าพรรษา ที่มีอยู่แห่งเดียวที่พบคือบริเวณ เชิงเขาสุวรรณบรรพต ใกล้มณฑปรอยพระพุทธบาท ซึ่งจะเบ่งบานชูช่อให้เก็บได้ในช่วงวันเข้าพรรษา ให้ชาวบ้านได้นำดอกเข้าพรรษานั้น นำมาร่วมกับธูปเทียนเพื่อตักบาตรถวายพระสงฆ์เป็นสักการะรอยพระพุทธบาท นายเอกพร กล่าวเชิญชวนพุทธศาสนิกชนให้มาร่วมงานบุญตักบาตรดอกเข้าพรรษา ถือเป็นประเพณีหนึ่งเดียวในโลก กิจกรรมในงานที่น่าสนใจนอกจากพิธีตักบาตรดอกเข้าพรรษาแล้ว ยังมีนิทรรศการที่บอกเล่าความเป็นมาของประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา การแสดงศิลปะพื้นบ้าน การจำหน่ายของดีสระบุรี โดยไฮไลท์ของงาน เริ่ม วันที่ 12 ก.ค.65 09.30 น. ชมขบวนเทียนพรรษาพระราชทาน, 14.30 น. ชมขบวนพยุหยาตรา และขบวนเจ้าเมืองสระบุรี ขบวนรถบุปผชาติ และขบวนวัฒนธรรมท้องถิ่นอีกมากมาย 17.00 น. พิธีเปิดงานประเพณี ตักบาตรดอกเข้าพรรษา ร่วมตักบาตรดอกเข้าพรรษา และพิธีล้างเท้าพระ วันที่ 13 และ 14 ก.ค.65 ปีนี้ จัดให้มีพิธีตักบาตรดอกเข้าพรรษา-ล้างเท้าพระ ในเวลา 13.30 น. วันละ รอบเดียว

ประวัติงานตักบาตรดอกเข้าพรรษา ความเป็นมาของการตักบาตรดอกเข้าพรรษานั้น มีแจ้งในพุทธตำนานว่า นายมาลาการ เป็นผู้ทำหน้าที่นำดอกมะลิสดไปถวายพระเจ้าพิมพิสาร พระราชาแห่งเมืองราชคฤห์ เป็นประจำทุกวัน มาวันหนึ่งขณะที่นายมาลาการออกไปเก็บดอกมะลิอยู่ในสวน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ กำลังเสด็จออกบิณฑบาตผ่านมา นายมาลาการเห็นดังนั้นจึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระพุทธองค์จึงนำดอกมะลิ 8 กำมือ ไปถวายพระพุทธองค์ พระเจ้าพิมพิสารราชา ทรงทราบข่าวว่า พระศาสดาเสด็จออกบิณฑบาตมาถึงใกล้ๆ พระราชวัง จนนายมาลาการได้พบ และถวายดอกมะลิบูชา พระราชาจึงเสด็จพระราชดำเนินไปถวายบังคมต่อพระศาสดา แล้วตามเสด็จพระศาสดาไปด้วยความเลื่อมใสศรัทธา พระเจ้าพิมพิสารเลยบำเหน็จรางวัลความดีความชอบ และพระราชทานสิ่งของทั้งปวงให้กับนายมาลาการ นับแต่นั้นมานายมาลาการก็อยู่อย่างร่มเย็น ปราศจากทุกข์ใดๆ ทั้งปวง ด้วยอานิสงส์ของการนำดอกมะลิบูชา แด่พระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแทนการตักบาตร จากอานิสงส์ดังกล่าวแต่ครั้งพุทธกาล ชาวพุทธทั่วไปจึงถือเป็นประเพณี “ตักบาตรดอกเข้าพรรษา” เป็นประจำทุกปี ตลอดจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ประวัติดอกเข้าพรรษา วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี เป็นวันเข้าพรรษา ชาวอำเภอพุทธบาทจะนำดอกไม้ชนิดหนึ่งใช้ตักบาตรจนกระทั่งเกิดเป็นประเพณีท้องถิ่น ดอกไม้ที่นำมาใช้ตักบาตรในประเพณีนี้ เรียกกันว่า “ดอกเข้าพรรษา” หรือ “ดอกหงส์เหิน” เพราะลักษณะของดอกและเกสรประดุจดังตัวหงส์ที่กำลังเหินบินด้วยท่วงท่าลีลาอันสง่างามนั่นเอง หงส์เหิน (Globba Winiti) เป็นพืชจัดอยู่ในวงศ์ขิง เป็นไม้ดอกเมืองร้อน เกิดขึ้นในป่าร้อนชื้นซึ่งพบได้ในประเทศไทย พม่า และเวียดนาม ต้นหงส์เหิน หรือต้นเข้าพรรษาเป็นไม้ล้มลุก มีสีเหลืองสดใส มีกลีบประดับขนาดใหญ่ตามช่อโดยรอบ จากโคนถึงปลาย สีของกลีบประดับมีหลายสี เช่น สีเหลือง สีขาว และสีม่วง ซึ่งแต่ละสีมีความเชื่อดังต่อไปนี้ สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งพระพุทธศาสนา สีเหลือง หมายถึง สีแห่งพระสงฆ์ สีม่วง เป็นสีที่หายากที่สุด และชาวอำเภอพระพุทธบาทเชื่อว่าการใส่บาตรด้วยดอกสีม่วงได้บุญกุศลแรงที่สุด เมื่อพระสงฆ์ได้รับบิณฑบาตแล้ว ก็จะนำไปสักการะรอยพระพุทธบาท อันจะส่งผลบุญให้ผู้ทำบุญตักบาตรได้ขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ “ดอกเข้าพรรษา” หรือดอกหงส์เหิน 1 ปี จะออกดอกเพียงครั้งเดียว เฉพาะช่วงเทศกาลเข้าพรรษาเท่านั้นในท้องที่อำเภอพระพุทธบาท พบว่ามี 2 สกุล ได้แก่ สกุลกระเจียว มีดอกสีขาว หรือขาวอมชมพู และสกุลหงส์เหิน เมื่อถึงวันเข้าพรรษา วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี ชาวอำเภอพระพุทธบาท จะพากันไปเก็บดอกเข้าพรรษาตามไหล่เขาโพธิลังกา หรือเขาสุวรรณบรรพต เทือกเขาวงและเขาพุ ในเขตอำเภอพระพุทธบาท นำมาจัดรวมกับธูปเทียน เพื่อตักบาตรถวายพระ จังหวัดสระบุรีนี้ได้จัดพิธีตักบาตรดอกเข้าพรรษา ณ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง ตไบลขุนโขลน อำเภอพระพุทะบาท จังหวัดสระบุรี เป็นสถานที่ประดิษฐาน “รอยพระพุทธบาท” อันศักดิ์สิทธิ์ ที่พุทธศาสนิกชนให้ความเคารพบูชา มีความเชื่อในคติชาวลังกาว่า พระพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ 5 แห่ง และรอยพระพุทธบาทที่วัดพระพุทธบาทแห่งนี้ เป็น 1 ใน 5 แห่ง รอยพระพุทธบาทถูกค้นพบในสมัยพระเจ้าทรงธรรม

- Advertisement -

ร่วมเป็นผู้สนับสนุน Saraburinews.com

โอนเงิน บัญชีกรุงศรี ฯ 149-914-2926 "หนังสือพิมพ์สระบุรีนิวส์"
เพื่อให้เรามีกำลังในการผลิตเนื้อหาสาระแบบนี้ต่อไป ขอบพระคุณมากครับ

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ LINE สระบุรีนิวส์ ที่นี่


เพิ่มเพื่อน

ข่าวแนะนำ

- Advertisement -
- Advertisement -

ข่าวแนะนำ