





(วันนี้ 2 เมษายน 2565) ที่ อาคารรวมใจเทศบาลเมืองสระบุรี นายธีรรัตน์ จึงยิ่งเรืองรุ่ง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ดร.วิทูล หนูยิ้มซ้าย,นายนฤพนธ์ อุตรพงศ์ รองนายกเทศมนตรี นายบุดดี ทิณเสวก เลขานุการนายกเทศมนตรี นางวรรณภา อุ่นอารมณ์ รองประธานสภา นายภวัฒ พรมวัฒ,นายเสรี รัตนพิมพ์ สมาชิกเทศบาลเมืองสระบุรี ฯลฯ ร่วมกันต้อนรับ นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์กฤษณ์ สกุลแพทย์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระบุรี ลงพื้นที่ หน่วยบริการ”นำวัคซีนมาหาประชาชน” เพื่อให้บริการเชิงรุกฉีดวัคซีน กระตุ้นเข็ม 3 และ 4 ป้องกันโควิด-19 ซึ่งได้รับการสนับสนุนวัคซีนโดยสำนักงานสาธารณสุขสระบุรี จำนวน 500 โดส ตามโครงการ”นำวัคซีนมาหาประชาชน” พร้อมกับสร้างความรู้ความเข้าใจในการรับวัคชีนอย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยมีหน่วยแพทย์สาธารณสุขเทศบาลเมืองสระบุรี พร้อมบริการ”ตรวจกาย-สำรวจใจ” ในประชาชน ที่เคยติดเชื้อโควิดและมีภาวะ ให้ได้รับการช่วยเหลือดูแลจิตใจ จนสามารถกลับไปชีวิตได้อย่างมีความสุข ปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตใหม่ โดยมีประชาชนเข้าร่วม ฉีดวัคซีนกระตุ้นตามบัตรคิว จำนวนกว่า 300 คน






สาธารณสุขมีนโยบายให้ทุกคนในประเทศไทยเข้าถึงวัคซีนที่มีคุณภาพ ปลอดภัย มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด -19 เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิต โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้มีอายุ 60 ปี ขึ้นไปและผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมถึงป้องกันระบบสุขภาพของประเทศ ปกป้องบุคลากรด่านหน้าจากการดูแลผู้ติดเชื้อ โดยโครงการ “นำวัคซีนมาหาประชาชน”เป็นหนึ่งในการส่งเสริมให้ประชาชนได้รับวัคซีนอย่างครอบคลุม เพิ่มศักยภาพหน่วยบริการด้านสาธารณสุขในทุกระดับ เพิ่มกำลังในการให้บริการประชาชนทั้งเชิงรุกและเชิงรับ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการวัคชีนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนส่วนประชาชนบางรายที่ขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องวัคชีนที่ถูกต้อง ทำให้ปฏิเสธการฉีดวัคซีน กรมสุขภาพจิตได้พัฒนาเครื่องมือ MI (Motivation Interviewing) หรือการให้คำปรึกษาแบบโน้มน้าวใจด้วยการพูดคุยทำให้เห็นถึงคุณค่าและประโยชน์ของการฉีดวัคชีน จนยอมรับการฉีดวัคซีนได้ในที่สุด โรคโควิด -19 นอกจากผลกระทบทางกายแล้ว ยังมีผลกระทบทางใจที่มีแนวโน้มจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น จากข้อมูลพบว่าประชาชนมีความเครียด มีภาวะหมดไฟ ภาวะซึมเศร้า และมีความคิดทำร้ายตนเองเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากปัจจัยทางสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และข้อจำกัดในการปรับตัว ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนและทุกระดับใช้ทั้งศักยภาพและสายสัมพันธในชุมชนร่วมกันสร้างความรู้สึกปลอดภัยและสร้างความเข้าใจให้โอกาสกันและกัน เพื่อนำไปสู่การมีพลังใจที่จะก้าวผ่านวิกฤตการระบาดในครั้งนี้ไปด้วยกัน




