



เช้าวันนี้( ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๔) เวลา ๐๙.๐๐ น. นายสุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นประธานในพิธีถวายผ้ากฐินพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์นายกกิตติมศักดิ์และองค์ประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ณ พระอุโบสถ วัดมงคลชัยพัฒนา หมู่ที่ ๕ ตำบลห้วยบง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี มีนายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ และประชาชน ร่วมพิธี ประธานถวายความเคารพพระพบรมฉายาลักษณ์ เปิดกรวยกระทงดอกไม้ รับผ้ากฐิน เข้าสู่พระอุโบสถ วางผ้าพระกฐินบนพานแว่นฟ้า จุดธูปเทียนบูชาพระประธานในพระอุโบสถ กล่าวคำถวายผ้าพระกฐิน พระสงฆ์กระทำพิธีอปโลกนกรรม เห้นสมควรให้พระวิสิฐคณาภรณ์ (อาทิตย์ สิริวฑฺฒโน) เจ้าอาวาสวัดมงคลชัยพัฒนา เป็นผู้ครองผ้า จากนั้นประธานพิธีถวายเครื่องบริวารพระกฐินแด่พระสงฆ์องค์ครอง ไม่เกิน 5 ตะลุ่ม ผู้ร่วมพิธีถวายไทยธรรมแด่พระสงฆ์ 9 รูป เจ้าหน้าที่ประกาศจำนวนปัจจัยถวายพระสงฆ์และปัจจัยบำรุงพระอาราม เป็นเงิน 1,131,222.99 บาท ประธานถวายปวารณาบัตรแด่เจ้าอาวาส กรวดน้ำรับพร กราบประประธานกราบลาพระสงฆ์ ถวายความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์ที่ประดิษฐานด้านหน้าพระอุโบสถ เป็นเสร้จพิธี





วัดมงคลชัยพัฒนา เดิมชื่อวัดมงคล สร้างขึ้นในปลายรัชกาลที่ ๕ (ประมาณ พ.ศ. ๒๔๑๐) ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งแรกในรัชกาลที่ ๗ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๔ และครั้งที่สองเมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๘ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามจากวัดมงคล เป็น “วัดมงคลชัยพัฒนา” เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๔ ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาสและเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๘ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินงาน “โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ของมูลนิธิชัยพัฒนา และได้บำเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ อุโบสถวัดมงคลชัยพัฒนา และได้พระราชทานพระบรมรูปหล่อโลหะสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีลักษณะเต็มพระองค์ประทับนั่งบัลลังก์ แก่พระศรีญาณวงศ์ เจ้าอาวาสวัดมงคลชัยพัฒนา ในขณะนั้นเก็บรักษาไว้
โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ถือเป็น”ทฤษฎีใหม่”แห่งแรกของประเทศไทย เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรที่มีพื้นที่ถือครองขนาดเล็กประมาณ ๑๕ ไร่ โดยจัดแบ่งพื้นที่เป็น ๔ ส่วนคือ ๓๐:๓๐:๓๐:๑๐ กล่าวคือ ๓๐ ส่วนแรก คือสระน้ำ ๓๐ ส่วนที่สอง คือ การทำนา ๓๐ ส่วนที่สาม คือ การเพาะปลูกพืซไร่ พืชสวน และ ๑๐ สุดท้ายคือที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์และอื่นๆ ทั้งนี้หากเกษตรกรประสบความสำเร็จในการทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นที่ ๑ แล้ว ขั้นที่ ๒ คือให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การผลิต การตลาด เป็นต้น โดยความร่วมมือของหน่วยราชการ มูลนิธิ และเอกชน ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ ๓ คือ การติดต่อร่วมมือกับแหล่งเงินและแหล่งพลังงาน ตั้งและบริหารโรงสี ร้านสหกรณ์ ช่วยกันลงทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ยังได้พระราชทานพระราชดำริการพัฒนาตามหลัก “บวร” โดยนำวัดซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนในสังคมมาร่วมกันพัฒนาชุมชนกับชาวบ้าน โรงเรียน หรือส่วนราซการ ส่งผลให้เกิดความความสัมพันธ์ที่ดีความสามัคคี และการร่วมมือกันของคนในชุมชนที่จะพัฒนาท้องถิ่นของตนเองให้มีความเข้มแข็ง


