ในต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 1 พุทธศักราช 2325 ทางการได้สั่งให้หัวเมืองต่างๆ จัดหาไม้ดีมีลักษณะถูกต้องตามตำรา เพื่อส่งเข้าประกวดเป็นสาหลักเมือง สระบุรีได้พบไม้ต้นนี้ที่ดงพญาเย็น ( หมวกเหล็ก )จากนั้นก็นำล่องแม่น้ำปาสักไปประกวดที่กรุงเทพ ฯ เสาตะเคียนต้นนี้ได้ไปถึงที่ประกวดเป็นเสาแรก ( เดิมจะได้เป็นเสาหลักเมืองตามประกาศ ) ทางการตำหนิปลายคด จึงไม่ได้รับการคัดเลือก ด้วยเหตุที่พลาดหวังจึงหนีจากท่าน้ำที่ประกวด ลอยทวนน้ำขึ้นมาและร้องไห้มาตลอดทางจนถึงหน้าที่ว่าการอำเภอเสาไห้ตอนรุ่งอรุณ ซึ่งขณะนั้นผู้คนกำลังลุกขึ้นหุงข้าวต่างก็ได้ยินเสียงคร่ำครวญของผู้หญิงร้องไห้ จึงพากันไปดู พบเสาต้นหนึ่งกำลังลอยวนอยู่ท่ามกลางกระแสน้ำไหลเชี่ยวและค่อยจมลง

หลังจากนั้นก็มักได้ยินเสียงร้องไห้เรื่อยมา ผู้คนจึงขนานนามบ้านไผ่ล้อมน้อยนี้ว่า “บ้านเสาร้องไห้”
เมื่อประมาณเดือนมกราคม พ.ศ. 2501 นางเฉลียว จันทร์ประสิทธิ์ ได้ฝันว่า มีผู้หญิงคนหนึ่งมาบอกว่าเป็นนางไม้ประจำเสาต้นดังกล่าวที่จมน้ำอยู่ จึงรีบไปบอกให้สามีเอาเสาขึ้นมาจากน้ำ แต่นายเผ่าผู้เป็นสามีไม่เชื่อ นางไม้ของเสาต้นนี้ได้ไปเข้าทรงกับผู้อื่นอีกหลายครั้ง จนในที่สุดชาวบ้านหลายคนก็ได้ไปร้องขอให้นายเผ่าเอาเสาต้นนี้ขึ้นมา
ในที่สุดก็เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2501 ในวันนั้นแดดร้อนจัดมาก ขณะที่กำลังนำเสาขึ้นจากน้ำ ท้องฟ้าก็มืดครึ้มลง มีเสียงฝ้าผ่าดัง แลเห็นเป็นประกายสีเขียวไปทั่ว เสียงฟ้าร้องคำรามทำท่าคล้ายฝนจะตก ทำให้ผู้คนที่มาเข้าร่วมพิธีกันเป็นจำนวนมากต่างตื่นตาตื่นใจ เมื่อถึงเวลา 09.00 น. เริ่มพิธีเคลื่อนเสาไปประดิษฐานที่วัดสูง โดยมีการตั้งศาลสูงเพียงตา มีหัวหมูซ้ายขวา บายศรี 3 ชั้น ใช้ด้ายสายสิญจน์ผูกที่เสา แล้วใช้เชือกผูกแพที่รับเสาให้ประชาชนดึง เมื่อได้ฤกษ์ พระสงฆ์ 9 รูปเจริญชัยมงคลคาถา ประชาชนที่อยู่บนฝั่งหน้าที่ว่าการอำเภอเสาไห้ ก็ร่วมกันดึงเชือกแพลูกบวบให้เคลื่อนไปทางทิศตะวันออก มีเรือแตรวงนำขบวน มีเรือต่าง ๆ ร่วมขบวนอีกเป็นจำนวนมาก ในวันนั้นที่นำเสาขึ้นจากน้ำ มีประชาชนมาร่วมพิธีมากถึงประมาณสามหมื่นคนเลยทีเดียว นับเป็นวันประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของชาวอำเภอเสาไห้ที่ต้องจารึกไว้

ต่อมา จึงได้สร้างศาลถาวรขึ้นที่หน้าพระอุโบสถในวัดสูง เป็นศาลกว้าง 4 เมตร ยาว 15 เมตร มีมุขออกด้านตะวันออก พื้นคอนกรีตมีฐานก่ออิฐสูงรองรับเสาตะเคียน และเมื่อวัดสูงได้สร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ขึ้น จึงได้ดัดแปลงศาลาการเปรียญ หลังเดิมเป็นอาคารทรงไทยสวยงาม และอัญเชิญเสาแม่นางตะเคียนมาประดิษฐานที่ศาลหลังใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2530 มาจนถึงทุกวันนี้ และในวันที่ 23 เมษายนของทุกปี จะมีพิธีอาบน้ำเสาแม่นางตะเคียน โดยพ่อเมืองหรือผู้ว่าราชการจังหวัด ถือเป็นประเพณีพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ของอำเภอเสาไห้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณธีรชัย มังกรทอง ประชาสัมพันธ์จังหวัดสระบุรี