





วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ ห้องประชุม อบต.หน้าพระลาน ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี นายโกเมศ พุทธสอน ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.สระบุรี เป็นประธานเปิดโครงการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วม ในการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่า และทำบันทึกข้อตกลง(MOU) กับผู้นำท้องถิ่นในเขตอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี โดยมี ผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่องค์ปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 4 แห่ง(อบต.พุแค,อบต.ห้วยบง,อบต.เขาดินพัฒนา,อบต.หน้าพระลาน) เข้าร่วมพิธีพร้อมร่วมรับการอบรมจากทีมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากสถานีควบคุมไฟป่าเจ็ดสาวน้อย-สามหลั่น ส่วนควบคุมปฎิบัติการไฟป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (สาขาสระบุรี) พร้อมกันนี้ยังได้รับเกียรติจากนายศราวุธ สุวรรณจูฑะ นายอำเภอเฉลิมพระเกียรติ นายธนพิพัฒน์วิธูชุลีโชติ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหน้าพระลาน นายสีนวล ศรีจันทร์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพุแค เข้าร่วมพิธีเซ็นบันทึกข้อตกลง(MOU) ในครั้งนี้ด้วย และร่วมรับชมการสาธิตการดับไฟป่าด้วยอุปกรณ์และวิธีการที่ถูกต้อง เพื่อให้ผู้รับการอบรมสามารถนำไปใช้ในกรณีที่เกิดเพลิงไหม้ป่าภายในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตป่าสงวนแห่งชาติ และเขตป่าไม้ ที่อยู่ในพื้นที่ได้




จังหวัดสระบุรี มีพื้นที่ทั้งหมด 2,186,994.18 ไร่ เป็นพื้นที่บำไม้ 529,689.38 ไร่ คิดเป็น 24.22 % ของพื้นที่จังหวัด พื้นที่ป่าอนุรักษ์ ประกอบด้วยเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าแก่งคอย เขตห้ามสัตว์ป่าเขาวงจันทร์แดง สวนพฤกษศาสตร์พุแค สวนรุกขชาติมวกเหล็ก อุทยานแห่งชาติน้ำตกจ็ดสาวน้อย อุทยานแห่งชาติน้ำตกสามหลั่น อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ประกอบด้วย ป่าสงวนแห่งชาติป่าลานท่าฤทธิ์ ป่าสงวนแห่งชาติป่าท่าฤทธิ์ ป่าลำทองหลาง และป่าลำพญากลาง ป่าสงวนแห่งชาติป่าทับกวาง และป่ามวกเหล็ก แปลงที่ 1 ป่าสงวนแห่งชาติป่าพระพุทธบาทและป่าพุแค ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาพระ ป่าสงวนแห่ชาติป่าเขาโป่ง และป่าเขาถ้ำเสือ ป่าสงวนแห่งชาติป่ามวกเหล็ก และป่าทับกวาง แปลงที่ 2 ป่าสงวนแห่งชาติป่าพระฉาย และจังหวัดสระบุรียังมีพื้นที่ป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 อีกด้วย



มีข้อมูลพบว่าปัญหาเรื่องไฟป่าเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมพืช ดิน ป่าไม้ ทรัพยากรน้ำ สัตว์ป่าและสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในป่า ทรัพย์สิน สุขภาพและชีวิตของมนุษย์ สถานที่ท่องเที่ยว และสภาวะอากาศ การเกิดไฟป่า ส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การเผาไร่เพื่อเตรียมการเพาะปลูก เผาป่าเพื่อล่าสัตว์หรือหาของป่า ความขัดแย้งระหว่างราษฎรกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้น การที่จะป้องกันไฟนั้น ต้องเน้นที่มนุษย์โดยประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องไฟป่า สร้างความเข้าใจและปลูกจิตสำนึกให้รักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนขอความร่วมมือจากประชาชน ที่มีภูมิลำเนาและที่ทำกินอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ผืนป่า รวมทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชน สร้างเครือข่ายเฝ้าระวังป้องกันไฟป่าและทำงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานข้างเคียงในพื้นที่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสระบุรี จึงได้จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันไฟป่าขึ้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของบุคลากรในการควบคุมไฟป่าให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป.


