สระบุรี.คุณเฉลิมพล สารีนนท์ รวบรวมปัจจัย บูรณะ วัดซับบอน (พระใหญ่) น้อมรำลึก หลวงปู่สำลี พระอริยสงฆ์ 5 แผ่นดิน “เทพเจ้าแห่งผืนป่าดงพญาเย็น”ในตำนาน.

- Advertisement -
คุณเฉลิมพล สารีนนท์ หรือ เหลิม ห้วยแห้ง ผู้มีพลังศรัทธา รวบรวมปัจจัย บูรณะปฏิสังขรณ์ วัดซับบอน อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี
คุณเฉลิมพล สารีนนท์ พร้อมคณะ มอบเงิน พระอาจารย์โก๊ะ เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์วิหาร หลวงปู่สำลี
ที่ วัดซับบอน ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี คุณเฉลิมพล สารีนนท์ หรือ เหลิม ห้วยแห้ง,คุณ พัชรณัฏฐ การะนันท์ เจ้าของร้าน ไอยรา อาหารป่า,คุณ เชาวลิต ยาดี ผู้ช่วย สส.สมบัติ อำนาคะ เขต 2. พร้อมด้วยพลังจิตศรัทธาหลวงปู่สำลี พระอริยสงฆ์ 5 แผ่นดิน รวมกลุ่มและผู้มีจิตศรัทธาสร้างบุญสร้างกุศล รวมถึงเพื่อนพ้องน้องพี่คนรักบ้านเกิดถิ่นกำเนิด คน(แก่งคอย) เนื่องด้วยทางคุณเฉลิมพล สารีนนท์ ไปกราบสรีระ และทำบุญคล้ายวันเกิดวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่วัดซับบอน หลวงปู่สำลี พระอริยสงฆ์ 5 แผ่นดิน เทพเจ้าแห่งผืนป่าดงพญาเย็น วัดซับบอน จ.สระบุรี สรีระสังขารไม่เน่า ซึ่งบรรจุอยู่ในโลงแก้ว จึงได้ศึกษาและอ่านประวัติแล้วรู้สึกศรัทธาหลวงปู่ หลวงปู่เป็นผู้สร้างหลวงพ่อใหญ่ วัดซับบอน ใครผ่านไปผ่านมา ภาคอีสาน ตรงข้ามโรงปูน TPI จะพบว่ามีหลวงพ่อองค์ใหญ่ ริมถนนที่เห็นนั้นละ คือหลวงพ่อใหญ่วัดซับบอน และได้ทราบว่าพระอาจารย์โก๊ะ มีแนวความคิดว่าจะนำวอลล์เปเปอร์ลายไทย ไปติดในวิหารสรีระ หลวงปู่สำลี ทั้ง 4 มุม ปัจจุบันพระวิหารเก่าและได้เปลี่ยนหลังคาพระวิหารที่ชำรุดไปบ้างแล้ว จึงมีความคิดอยากขอร่วมเป็นสะพานบุญรวบรวม สมัครพรรคพวก หาปัจจัยช่วยบูรณะ พระวิหารหลวงปู่ และได้ปัจจัยมา 60,000 บาท จึงนำส่งวัตถุประสงค์ทั้งหมด เพื่อทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ ที่ทำก็เพื่อน้อมระลึกถึงคุณงามความดีของหลวงปู่ที่สร้างไว้ ให้สาธุชนรุ่นหลังรับทราบและให้สาธุชนผู้ใจบุญผ่านไปผ่านมาได้เข้ามาเยี่ยมชมที่วัดซับบอน ได้สักการะกราบไหว้ขอพรท่านหลวงปู่สำลี เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บุคคลทั่วไป ผู้ที่ผ่านไปผ่านมาทางภาคอีสาน พร้อมกับได้ลงรายละเอียดประวัติของหลวงปู่สำลี ที่ค้นคว้ามาจากทางวัดซับบอน เพื่อเผยแพร่ให้กับพุทธศาสนิกชนผู้ใจบุญและมีจิตศรัทธาหลวงปู่สำลี ได้ศึกษาและค้นคว้าไว้พอเป็นสังเขปดังต่อไปนี้.

##ประวัติ ##พระครูสังฆวิธาน (สำลี ปภาโส) วัดซับบอน อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ## เทพเจ้าแห่งมอทับกวาง ##

หลวงปู่สำลี ปภาโส พระอริยสงฆ์ 5 แผ่นดิน เทพเจ้าแห่งผืนป่าดงพญาเย็นในตำนาน.ปฐมบท 1 ชาติภูมิกำเนิด หลวงปู่สำลี ปภาโส เกิดวันพฤหัสบดี เดือน 6 ขึ้น 7 ค่ำ ปี ชวด พ.ศ. 2417โยมบิดาชื่อรงค์ พื้นเพเดิมเป็นคนเมืองปราจีนบุรี เดินทางเข้าๆออกๆระหว่างไทยกับกัมพูชา สมัยก่อนนั้นประเทศกัมพูชายังมิได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ คนไทนคนกัมพูชาเข้าออกได้ ติดต่อทำมาค้าขายเพราะถือเสมือนเมืองพี่เมืองน้อง หลวงปู่เล่าว่า โยมบิดาเดินทางไปเที่ยวถึงเมืองพนมเปญ ได้พบกับโยมมารดารักไคร่และสู่ขอกัน ส่วนประเพณีก็เหมือนกับคนลาวมีการเซ่นไก่ไหว้ผี เมื่อเสร็จพิธีเซ่นไก่ไหว้ผีแล้วโยมบิดาของหลวงปู่ก็พาโยมมารดากลับมาเมืองไทยอยู่ที่เมืองปราจีนบุรี หลวงปู่เกิดมาอายุได้ 4-5 ขวบ โยมบิดาก็ถึงแก่กรรม โยมมารดาของท่านจึงได้พาหลวงปู่กลับเมืองพนมเปญ ประเทศกัมพูชา หลวงปู่เป็นกำพร้าบิดามาแต่เล็กแต่น้อย โยมมารดาก็พยายามกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูมาด้วยความทนุถนอม จนหลวงปู่อายุได้ 7-8 ขวบ โยมมารดาก็นำไปฝากกับเจ้าอาวาสวัดดาลาวัณ เพื่อให้ศึกษาหาความรู้ พอหลวงปู่อายุได้ 11 ขวบก็บวชเป็นสามเณร พอเรียนภาษาขอมได้คล่องแคล่วแล้วหลวงปู่ก็หันเข้าร่ำเรียนทางไสยเวทย์ ไสยศาสตร์ เมตตา มหา นิยม คงกระพันชาตรี เป่าเสกคาถาอาคม ผูกหุ่น กำบังกายหายตัว หมอยารักษาโรค และหมอดู พออายุของหลวงปู่ 16 ปีก็ขออนุญาตโยมมารดากลับเข้ามาเมืองไทย เพื่อสืบเสาะหาญาติข้างโยมบิดา ทางฝ่ายโยมมารดาก็อนุญาต ตอนที่ 2 เดิมทีนั้น หลวงปู่ชื่อกล่ำ ต่อมาผิวของท่านขาวผิดพ่อผิดแม่ โยมมารดาจึงตั้งชื่อให้ใหม่ว่า สำลี เมื่อสามเณรสำลีได้รับอนุญาตจากโยมมารดาแล้ว ก็ออกเดินทางจากกรุงพนมเปญเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2433 ท่านเล่าว่าในสมัยนั้นการคมนาคมของกัมพูชายังไม่เจริญ จากกรุงพนมเปญมายังจังหวัดพระตะบองอำเถอปอยเปต ไม่มีรถยนต์ ต้องเดินบุกป่าฝ่าดง ถ้าหน้าฝนก็มีไข้ป่าชุกชุม การเดินทางลำบากมาก หลวงปู่เล่าว่า จากวัดดาลาวัณในนครพนมเปญ กว่าจะถึงอำเภอปอยเปตเขตแดนระหว่างไทยกัมพูชา นับเป็นเวลาเดือนเศษ เมื่อมาถึงปอยเปต ก็แจ้งกับเจ้าหน้าที่ที่เฝ้าด่าน ผ่านข้ามสะพานคลองลึกเข้ามาด่านไทยอรัญประเทศ สมัยนั้นเข้าออกง่าย ยิ่งมาในลักษณะของชาว กัมพูชา เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยก็ไม่พิถีพิถันอะไรมากนัก สำคัญอยู่ที่ว่าภาษาพูดทำให้ลำบากใจมาก เพราะหลวงปู่ไปกับโยมมารดาตั้งแต่อายุ 4-5 ขวบ จนถึงอายุ 16 ปี มีชีวิตเติบโตอยู่ในกัมพูชา แต่ท่านก็โชคดีมากได้พบกับสามเณรเชื้อชาติกัมพูขาสัญชาติไทย จึงได้ชวนมาเป็นเพื่อนเดินทางขึ้นรถไฟจากอรัญประเทศมาลงที่สถานีรถไฟปราจีนบุรี สองสามเณรหันเหไม่รู้จะไปถามใคร จึงพากันไปที่วัดแห่งหนึ่งใกล้ๆกับสถานีรถไฟ ขอพักอาศัยกับหลวงตาแก่ๆองค์หนึ่ง อยู่ที่วัดนั้นหลายวันภาษาก็ชักจะคุ้นหู หัดพูดกับเพื่อนสามเณรจากภาษากัมพูชาแปลเป็นไทย ในที่สุดหลวงปู่ก็พูดได้ สามเณรเพื่อนลากลับอรัญประเทศ หลวงปู่ยังคงอยู่ที่วัดนั้นต่อไป อาศัยว่าสามเณรสำลีมีวิชาทางพยากรณ์อยู่บ้างจึงมีญาติโยมเอื้อเอ็นดู มีประชาชนมาให้สามเณรสำลีดูโฉลกโชคชะตา สามเณรน้อยก็ทายได้อย่างแม่นยำ ในการต่อมาทำให้สามเณรสำลีรู้จักกับญาติโยมอย่างกว้างขวาง สามเณรน้อยก็พยายามสืบเสาะจนพบปู่ย่า เมื่อปู่ย่าได้ พบหลานในใส้ ต่างก็พากันร้องห่มร้องไห้ ได้ถามถึงโยมมารดา สามเณรได้เล่าให้ปู่ย่าฟังโดยตลอด ยิ่งเห็นสามเณรน้อยผู้เป็นหลานก็ทำให้ปู่ย่าคิดถึงลูกชายของแกเอง เพราะสามเณรหลานรูปร่างถอดแบบพ่อไว้ไม่มีผิด ระยะที่ท่านมาอยู่ประเทศไทยก็ไปๆมาๆอยู่เสมอ ทำให้ท่านพูดภาษาไทยได้คล่อง เมื่อพูดภาษาได้แล้ว ท่านก็เริ่มเรียนหนังสือไทย ประกอบกับหลวงปู่ท่านมีพรสวรรค์อยู่ในตัว ท่านจึงเขียนหนังสือไทยได้คล่องในระยะต่อมา ในขณะที่หลวงปู่เป็นสามเณรอยู่ในเมืองไทย ท่านได้ไปเที่ยวยังจังหวัดต่างๆ เช่น กรุงเทพฯ ชลบุรี อยุธยา สระบุรี และท่าน คิดจะไปอีกหลายจังหวัด แต่ขณะนั้นอายุท่านใกล้จะครบบวช ท่านจึงได้ลาปู่ย่า เดินทางกลับไปบวชในกรุงพนมเปญ อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของโยมมารดา ท่านกลับไปอยู่กรุงพนมเปญได้หนึ่งปีอายุท่านก็ครบบวชพอดี โยมมารดา-ยาย ญาติพี่น้องทางฝ่ายโยมมารดาก็พากันอนุโมทนา หลวงปู่บวชเมื่ออายุครบ 21 ปี ตรงกับ พ.ศ. 2438 บวชที่วัดดาลาวัณ อยู่ที่ชานกรุงพนมเปญ ผู้เขียนเคยถามถึง พระอุปัชฌาย์ และคู่สวด หลวงปู่บอกว่า ลืมหมดแล้วมันเกือบร้อยปีมาแล้ว มีฉายาว่า “ปภาโส”
ตอนที่ 3 ครั้นเมื่อหลวงปู่อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว หลวงปู่ก็ศึกษาธรรมวินัย อันเป็นธรรมปฏิบัติของพุทธวจนะ หลวงปู่จำพรรษาอยู่ที่วัดดาลาวัณได้ 3 พรรษา ท่านก็คิดจะออกแสวงหาธรรม จึงได้ชวนสงฆ์กัมพูชาด้วยกันอีก 5 รูปด้วยกันเดินธุดงค์ จากวัดดาลาวัณ ณ เดือน 11 ขึ้น 1 ค่ำ พ.ศ. 2438 โดยเดินทางจากวัดดาลาวัณกรุงพนมเปญมาข้ามเข้าเขตประเทศไทย ทางด้านเขาพระวิหาร จังหวัดสุรินทร์ พอเข้าเขตประเทศไทย หลวงปู่กับพระสงฆ์ไทยอีก 5 รูป เลยชวนกันร่วมเดินทางไปด้วยกัน รวมเป็น 11 รูป ตกลงกันว่าจะไปไหนไปกัน โดยมีหลวงปู่สำลี ปภาโส เป็นหัวหน้าเป็นผู้นำจากเขาพระวิหารชายแดนที่พากันบุกป่าเขาลำเนาไพร ใกล้ค่ำที่ไหนก็ปักกลดที่นั่น หลวงปู่เล่าว่าเดินธุดงค์ในเมืองไทย เรายังดีในป่าในดงก็ยังมีบ้านมีช่อง เป็นระยะๆ เดินธุดงค์ในประเทศพม่าบางที 7 วันไม่เคยฉันข้าวเลยสักคำ หลวงปู่กับพระที่ร่วมเดินทางไปด้วยกัน ท่านอยู่ได้อย่างไร อดใจอ่านต่อไป ให้หลวงปู่ข้ามเข้าเมืองพม่าเสียก่อน แล้วท่านผู้อ่านจะทราบว่าหลวงปู่กับพระทั้ง 10 รุป ท่านมีชีวิตรอดอยู่ได้อย่างไร จากจังหวัดสุรินทร์ผ่านเข้าจังหวัดกาฬสินธุ์ มหาสารคาม ขอนแก่น มาตามลำดับ ผู้เขียนถามหลวงปู่ว่า หลวงปู่ไม่พบกับพระอาจารย์ฝั้น หลวงปู่ขาว หลวงปู่ดุลย์ หลวงพ่อผางบ้างหรือขอรับ พบทั้งนั้นแหละถามทำไม หลวงปู่ท่านย้อนถาม กระผมคิดว่าหลวงปู่จะไปขอเรียนวิชาจากพระเกจิอาจารย์ดังที่กล่าวบ้าง เขาเกิดทีหลังตั้งเยอะ กำลังบวชเป็นเณรบ้าง เพิ่งบวชพระใหม่ๆบ้าง มีแต่อาจารย์เหล่านั้นจะมาขอเรียนวิชาจากเรา เขาเห็นเราเป็นพระกัมพูชา แต่เราไม่มีเวลาสอนให้เขา เราจะต้องเดินให้ถึงประเทศพม่า ผู้เขียนถามต่อไปอีกว่า ในการเดินธุดงค์ของหลวงปู่ ผ่านอุปสรรคอะไรบ้างที่แปลกและมหัศจรรย์มาก อ้าว… ไม่ยักถามเมื่อก่อนเดินธุดงค์อยู่ในกัมพูชา (หลวงปู่พูด) ตอนนั้นธุดงองค์เดียว ได้ไปพบอาจารย์อายุ 100 กว่าปี อยู่ในถ้ำแขวงเมืองกำปงธบ อาจารย์ผู้เฒ่าองค์นั้นแนะนำว่า ท่านอยากจะมีอายุยืนและก็ โน่นไปบิณฑบาตทางโน้น พร้อมกับอาจารย์ผู้เฒ่าขี้มือ ไปทางทิศเหนือของประเทศ พอรุ่งขึ้นเช้าหลวงปู่สำลี ปภาโส ก็ออกไปบิณฑบาตตามทิศทางที่พระอาจารย์เฒ่าบอก หลวงปู่บอกว่า ได้พบหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีผู้คนมากพอสมควร แต่ละคนล้วนมีรูปร่างหน้าตาสวยงามทั้งนั้น แต่ไม่ยักเห็นผู้ชาย หรือเขาจะออกไปทำงานกันหมด มีผู้หญิงออกมาใส่บาตร ข้าวที่นำมาใส่บาตรเมล็ดสวยมีกลิ่นหอม กับข้าวมีเป็นของแห้งจำไม่ได้ว่าเป็นอะไร เมื่อบิณฑบาตเสร็จก็กลับไปที่ปักกลด ลงมือฉันข้าวทั้งหอมทั้งอร่อย พอรุ่งขึ้นอีกวันก็ไปบิณฑบาตร ที่เก่า แต่ปรากฏว่า หมู่บ้านที่ไปบิณฑบาตรเมื่อวันวาน ไม่มีบ้านสักหลัง ทั้งๆที่หมายตาไว้ไม่ผิดแน่นอน กลับมาหาพระอาจารย์ผู้เฒ่า เล่าเรื่องราวให้ท่านฟัง พระอาจารย์เฒ่าองค์นั้นบอกว่า นั่นแหละหมู่บ้านลับแล ใครมีบุญจริงๆ ๆจึงจะได้พบเห็น อาตมาก็ได้ฉันข้าทิพย์ของคนเมืองลับแล จึงได้มีอายุยืนมาถึงร้อยกว่าปี นี่คือข้อความที่หลวงปู่สำลี ปภาโส ได้กรุณาเล่าย้อนให้ผู้เขียนฟัง ตอนที่ 4 เรื่องราวของหลวงปู่สำลีอายุ 115 ปี ยังมีความเร้นลับน่าศึกษา และติดตามรอยเท้าของท่านต่อไป ณ ที่เขตบ้านแห่งหนึ่งท้องที่อำเภอเมืองมหาสารคาม หลวงปู่ปักกลดอยู่ 2-3 วัน ในฐานะหลวงปู่เป็นพระกัมพูชาผู้เรืองวิชา ก็ชอบที่ผู้ เรืองวิชาด้วยกันจะทดลองว่าวิชาใครจะเหนือกว่าใคร ในเช้าวันหนึ่ง เมื่อหลวงปู่กลับจากบิณฑบาตในหมู่บ้านแล้ว ได้มีผู้ที่เลื่อมใสในการบุญการกุศลได้นำเอาข้าวปลาอาหารมาถวายท่าน พระนั่งฉันวงละ 5 องค์ 1 วง วงละ 6 องค์อีก 1 วง ที่มี 6 องค์มีหลวงปู่ร่วมอยู่ด้วย ก่อนจะฉันส่งทุกองค์จะต้องถวายข้าวพระ พอถวายแล้ว มีพระองค์หนึ่งที่นั่งร่วมวง จะลงมือตักแกงเนื้อก่อน หลวงปู่ปัดมือห้ามไว้ พระร่วมวงฉันต่างก็มองหลวงปู่ หลวงปู่นั่งภาวนาคาถาอยู่ครู่หนึ่ง เอามือจับถ้วยแกงเนื้อ แกงเนื้อที่อยู่ในถ้วยก็เดือดพล่านขึ้น นายคนที่ลองวิชาของหลวงปู่ถึงกับตะลึง หลวงปู่พูดขึ้นว่า “เรามันเสือเหมือนกัน กินกันไม่ลงหรอก” นายคนที่ลองวิชาคลานเข้าไปกราบหลวงปู่ขอขมาอภัย แล้วก็พากันกลับไป ผู้เขียนถามหลวงปู่อีกว่า ในถ้วยแกงเนื้อมีอะไรขอรับ หลวงปู่บอกจะมีอะไรเสียอีกล่ะ ก็มีหนังควายทั้งแผ่นนะสิ เพราะเขาก็มีวิชาเหมือนกัน หนังควายขนาดเท่าฝ่ามือ เขามีวิชานั่งบริกรรมเป่าเสกให้หดเหลือเท่าชิ้นเนื้อแกง ถ้าใครไม่มีวิชาแก้ กินเข้าไปหนังควายก็จะคลายออกเท่าฝ่ามือเหมือนเดิม แล้วอะไรจะเกิดขึ้น ตายลูกเดียว

จากนั้นหลวงปู่ก็ได้เล่าถึงการเดินธุดงค์ของท่านต่อไป ออกจากจังหวัดมหาสารคาม เดินต่อไปทางจังหวัดขอนแก่น บางครั้งก็มีญาติโยมออกค่ารถให้บ้าง บางครั้งก็ต้องเดินป่าไปตลอด ผ่านเพชรบูรณ์ พิษณุโลก แวะเข้านมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ต่อไปจังหวัดลำปาง เชียงใหม่ จุดหมายจะออกไปประเทศพม่า ด้านอำเภอแม่สายจังหวัดเชียงราย เมื่อหลวงปู่สำลีกับพระที่ร่วมเดินธุดงค์อีก 10 องค์ ข้ามเข้าเขตประเทศพม่าแล้ว ก็เดินทางล่องไปทางใต้ หลวงปู่ หยุดปักกลดในเขตอำเภอเมียววดี หลวงปู่บอกว่า คนพม่าเขาก็ใจบุญ เห็นพระผ่านไปเขาก็ยกมือไหว้ พระธุดงค์ออกบิณฑบาตตามตลาดหรือตามบ้านเรือน เช้าก็จัดข้าวจะแกงมาใส่บาตร หลวงปู่ปักกลดอยู่ที่อำเภอเมียววดี 2-3 วัน ก็ออกเดินทางต่อไปยังเมืองทวาย ก่อนจะเข้าถึงเมืองทวาย ต้องผ่านภูเขาตะนาวศรี ทางข้ามเขาตะนาวศรี ลำบากมากเพราะเป็นดงหิน เต็มไปด้วยสัตว์ร้ายนานาชนิด ก่อนที่หลวงปู่จะเดินทางข้ามเขตตะนาวศรี มีชาวพม่าบอกกับหลวงปู่ว่า มีทางเดียวที่จะข้ามเขาได้แต่ก็ต้องผ่านดงเสือดงช้าง ซึ่งเป็นสัตว์ที่ดุร้ายมาก หลวงปู่ไม่ควรจะไป แต่หลวงปู่ก็ไม่ละความตั้งใจ คงพาพระที่ร่วมเดินทางทั้ง 10 องค์ เดินทางต่อไป และเย็นวันนั้นเอง หลวงปู่ก็ต้องปักกลดในกลางดงหิน เป็นที่น่าสะพรึงกลัวสำหรับประชาชนคนธรรมดา แต่หลวงปู่เป็นพระสงฆ์ที่เปี่ยมไปด้วยเมตตาธรรม มีศิลาจารวัตรอันงดงาม ถ้าท่านผู้อ่านจะถามผู้เขียนว่า ศิลาจารวัตร และเมตตาธรรมจะหยุดยั้งความดุร้ายของเสือช้างได้ลงหรือ ท่านผู้อ่านครับ ถ้าท่านจะถามผู้เขียนอย่างนั้นก็ถามได้ตามสิทธิของท่าน แต่ท่านผู้อ่านอย่าลืมว่า หลวงปู่สำลี ปภาโส สัญชาติไทยแต่เชื้อสายกัมพูชาคงจะต้องมีวิชาพอตัว ไม่แค่นั้นคงไม่อาจหาญ บุกบั้นเข้าสู่ดงเสือดงช้างเป็นแน่ พอตะวันตกดินได้สักครู่ หลวงปู่ก็เสกก้อนดินเข้า 8 ก้อน พอเสกแล้วหลวงปู่ก็โยนไปทิศละก้อน แล้วก็บอกกับพระทั้งหมดว่า ถ้าท่านได้ยินเสียงอะไรก็ตาม อย่าได้ตกอกตกใจ และอย่าออกจากกลดโดยเด็ดขาด พระสงฆ์ทั้งหมดเข้ากลดสวดมนต์ แต่ก็ไม่วายที่จะระแวงภัย บางองค์ก็ผล็อยหลับไปเพราะความเพลีย บางองค์ก็ไม่ยอมหลับนั่งอยู่แต่ในกลด หูก็คอยสดับรับรู้ว่าจะมีอะไรผิดปกติ เวลาสาม ล่วงเข้ายามสองเห็นจะได้ สิ่งที่พม่าชาวป่าเตือนหลวงปู่ไม่ให้ผ่านเข้าไปปักกลด ก็ได้ปรากฏขึ้นทั้ง 4 ด้าน ได้ส่งเสียงร้องคำรณคำรามอย่างกึกก้อง มันเป็นเสียงของเจ้าป่า ทำให้พระที่อยู่ในกลดตลกตกใจแทบจะเผ่นไปหาหลวงปู่ แต่ก็ยังทำจำคำของหลวงปู่ได้ว่า ถ้ามีเสียงอะไรเกิดขึ้นก็ให้อยู่แต่ในกลด ส่วนหลวงปู่สำลีนั้น ท่านก็นั่งบริกรรมพระคาถาอยู่ในกลด เจ้าเสือโคร่ง 3-4 ตัว ก็เดินวนเวียนอยู่นอกเขตที่หลวงปู่โยนก้อนดินเสกทั้ง 8 ทิศ เจ้าเสือบางตัวก็ทำท่าจะกระโจนเข้า แต่ก็ต้องผงะออกไปเหมือนมีอะไรขวางกั้น เจ้าเสือร้าย 3-4 ตัว เดินวนเวียนอยู่ช่วงหุงข้าวหม้อสุก แล้วมันก็กระโจนเข้าป่าหายตัวไป ตอนที่ 5 พอรุ่งเช้า หลวงปู่ก็สั่งพระทั้งหมดเก็บกลดออกเดินทางต่อไป โดยไม่พูดจาอะไรทั้งสิ้น มุ่งหน้าเดินทางเข้าสู่เมืองทวาย จากเทือกเขาตะนาวศรีเดินบุกป่า ผ่านถ้ำผ่านเหว ครบ 7 วันจึงบรรลุถึงเมืองทวาย มีเจ้าหน้าที่ของเมืองพม่าเข้ามาไต่ถาม หลวงปู่ก็แจ้งความประสงค์กับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองให้ทราบ ทางเจ้าหน้าที่ของพม่าก็แนะนำให้หลวงปู่ไปพบกับพระพม่าระดับเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะอำเภอของพม่าก็ต้อนรับด้วยไมตรีอันดีงาม เมื่อหลวงปู่ได้รับการต้อนรับจากเจ้าคณะอำเภอแล้ว ก็ขออนุญาตปักกลดที่ท้ายวัด พอรุ่งเช้าก็นำพระออกบิณฑบาตรในตัวเมืองทวาย หลวงปู่เล่าให้ฟังว่าขนบธรรมเนียมและประเพณีของชาวพม่าก็ไม่แตกต่างกับไทยเราเท่าไรนัก ทางพระศาสนาของเขาก็คล้ายคลึงของไทยเรา พอเขารู้ว่า มีพระสงฆ์ไทยเข้ามาเยือนถึงเมืองเขา เขาก็แสดงความยินดี นำเอาข้าวปลาอาหารมาถวายถึงที่ปักกลด มีชาวพม่าคนหนึ่งเลื่อมใสพระสงฆ์ไทย มาพูดมาคุยด้วยเสมอ หลวงปู่ก็ผูกมิตรด้วยจิตแท้ พูดขอร้องให้ชายพม่าคนนั้นนำทางไปนมัสการพระเจดีย์ลอยกลางน้ำ ชายพม่าคนนั้นก็รับอาสา ครั้นถึงกำหนดหมายชายพม่าคนนั้นก็จัดเอาเรือมารับหลวงปู่และพระที่ร่วมเดินทางข้ามไปยังเกาะพระเจดีย์กลางน้ำ ผู้เขียนถามหลวงปู่ว่า เจดีย์กลางน้ำของพม่าเหมือนกับเจดีย์กลางน้ำวัดสมุทรเจดีย์ของเราไหม หลวงปู่ตอบว่า ก็คล้ายๆกัน แต่ศิลปะของพม่าเขางดงามมาก เข้าใจว่าปัจจุบันนี้ทางพม่าเขาคงบูรณะสวยงามกว่าเดิม เพราะที่หลวงปู่ไปเดินธุดงค์ในประเทศพม่าจำได้ว่า ปี พศ.2442 เมื่อนมัสการเจดีย์กลางน้ำแล้วก็ออกจากเมืองทวายมุ่งหน้าไปยังเมืองหลวงของพม่า คือเมืองย่างกุ้ง ก่อนเดินทางไปถึงเมืองหลวงของพม่า ก็เหมือนกับเมืองไทยเราในสมัยนั้น กันดารเหลือเกิน ในดินแดนพม่าสมัยนั้น ใช่ว่าจะมีความเจริญก็หาไม่ ในปี พ.ศ 2442 หลวงปู่สำลี ปภาโส ได้เป็นหัวหน้านำพระสงฆ์ทั้ง 10 รูป บุกป่าข้ามน้ำข้ามเขาออกแสวงหาสัจธรรมตามรอยพระบาทขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสมือนหนึ่งนำเอาศาสนาเข้ามาเข้าไปเผยแพร่ ในต่างถิ่นต่างแดนคือพม่า เขาได้เห็นพระสงฆ์ไทยอันเป็นสาวกของพระศาสนา เขาก็ยกมือโมทนาสาธุ หลวงปู่เล่าให้ผู้เขียนฟังอย่างละเอียดว่า การเดินธุดงค์ในประเทศพม่าเต็มไปด้วยความลำบากยากยิ่ง ออกจากเมืองทวายจะไปเมืองหลวง( ย่างกุ้ง ) หนทางกันดารมาก มีอยู่ช่วงหนึ่งเป็นป่าเขายาวเหยียด 4-5 วันไม่เคยพบบ้านใครสักหลัง พากันอดข้าวแทบแย่ ผู้เขียนนั่งฟังด้วยหัวใจที่จดจ่อ ถามหลวงปู่ขึ้นว่า หลวงปู่มีชีวิตรอดอยู่ได้อย่างไร ข้าวปลาไม่ได้ฉัน หลวงปู่บอกว่า เก็บเอาลูกตูมมาเผาไฟตีเปลือกออกให้แตกแล้วฉันแทนข้าว ( พม่าเรียกว่าลูกกุ้ย ) หลวงปู่พาพระผู้ร่วมเดินทางเดินฝ่าดงไปจนถึงเมืองหลวงของพม่า ( ย่างกุ้ง ) เข้านมัสการพระมหาเจดีย์ชเวดากองปรากฏอยู่ที่นั่นตกครึ่งเดือนเห็นจะได้ เข้าชมวัตถุสถานโบราณสถาน ตลอดทั้งพิพิธภัณฑ์สถานของเมืองพม่า ครั้นเมื่อหลวงปู่สำลีบรรลุถึงเป้าหมายแล้ว ท่านก็เดินทางกลับพร้อมด้วยพระที่ร่วมเดินทางทั้งหมด แต่การกลับนั้นไม่ได้กลับเส้นทางเดิม กลับเข้ามาทางเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรี มีญาติโยมผู้ใจบุญนิมนต์ขึ้นรถไฟเข้ากรุงเทพ เมื่อถึงกรุงเทพฯแล้ว หลวงปู่ก็จัดส่งพระภิกษุกัมพูชา 5 องค์ ขึ้นรถไฟไปลงอรัญประเทศ แล้วให้เดินทางกลับกรุงพนมเปญ ส่วนพระสงฆ์ไทยอีก 5 องค์ ซึ่งอยู่จังหวัดสุรินทร์ หลวงปู่ก็จัดส่งขึ้นรถไฟเช่นเดียวกัน สำหรับหลวงปู่สำลีนั้น ท่านบอกผู้เขียนว่า ขอเสี่ยงดวงอยู่กรุงเทพฯ

ตอนที่ 6 มันเป็นการบังเอิญเหลือเกิน หลวงปู่เดินเข้าไปในวัดโคก ( ปัจจุบันคือวัดพลับพลาชัย ) ขอเรียกวัดพลับพลาชัยตามปัจจุบัน ได้พบกับพระภิกษุกัมพูชารูปหนึ่ง ก็อย่างว่าแหละครับ เมื่อพระภิกษุรูปนั้นเห็นหลวงปู่ซึ่งเป็นเชื้อสายเดียวกัน ก็ดีอกดีใจไต่ถาม หลวงปู่บอกความประสงค์ ด้วยการหาวัดอยู่สักวัดในกรุงเทพ พระภิกษุรูปนั้นก็อาสาพาหลวงปู่เข้าพบเจ้าอาวาสวัดพลับพลาชัย ( สมัยนั้น ) ท่านเจ้าอาวาสก็รับหลวงปู่ไว้โดยมิได้รังเกียจหลวงปู่บอกว่า อยู่ที่วัดพลับพลาชัยเมื่อปี พ.ศ. 2444 เป็นต้นมา เมื่อหลวงปู่เข้ามาอยู่ในวัดพลับพลาไชย ท่านก็ไม่ได้นิ่งดูดาย ช่วยท่านเจ้าอาวาสทำงานทุกด้าน เช่น งานก่อสร้าง บูรณะซ่อมแซม ตกแต่ง ตลอดจนกระทั่งดูแลพระสงฆ์ในวัด เพราะหลวงปู่ท่านเป็นพระที่ขยันขันแข็ง จนเป็นที่พอใจของท่านเจ้าอาวาส อีกทั้งในด้านมนุษยสัมพันธ์หลวงปู่ท่านก็มีความเอื้ออารีต่อญาติโยมที่เข้าไปทำบุญในวัดทุกรูปทุกนาม เป็นการปลูกความนิยมไปในตัว ครั้นเมื่อหลวงปู่อยู่นานวันนานปีเข้าก็ชักมีลูกศิษย์ลูกหามากขึ้น เพราะหลวงปู่สำลีท่านเป็นพระที่เรืองวิชามาจากเมืองกัมพูชา การดูดวงชะตาราศี ท่านพยากรณ์ได้แม่นยำนัก โดยมากจะมีพี่น้องชาวจีนขึ้นท่านมาก ผู้ที่มีอาชีพค้าขายจะตั้งบริษัท เปิดที่ทำการ เปิดร้านค้า เปิดกิจการโรงงาน หลวงปู่ท่านจะกำหนดเดือนปีให้ สิ่งสำคัญที่สุดถ้าใครได้ผ้ายันต์ของท่านไปบูชาแล้ว จะมีโชคลาภ ซื้อง่ายขายคล่อง จะร่ำรวยถึงขั้นเจ้าสัวอาเสี่ย เรื่องผ้ายันต์ของท่าน ท่านจะเขียนลงอักขระด้วยมือของท่านเอง ไม่ใช่ไปจ้างโรงพิมพ์เขา ในวันที่ผู้เขียนไปกราบนมัสการขอประวัติจากท่านยังได้เห็นท่านเขียนลงอักขระผ้ายันต์ได้ตั้งเยอะ แต่ยังไม่ได้ปลุกเสก ถ้าท่านปลุกเสกแล้วผู้เขียนต้องได้ติดมือมา หลวงปู่ท่านก็ไม่ได้ลืมบ้านเกิดเมืองนอนเสียเลยทีเดียว ไปๆมาๆระหว่างไทยกัมพูชาอยู่เสมอ ไปเยี่ยมโยมมารดา โยมตาโยมยาย และญาติพี่น้องของท่าน ตลอดทั้งพระอุปัชฌาย์ที่วัดดาลาวัณในกรุงพนมเปญ ถวายปัจจัยไว้ทำนุบำรุงวัดบ้าง มอบให้กับบุพการีไว้ใช้จ่ายบ้าง ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับโยมบิดาบ้าง รับว่าน้ำใจของหลวงปู่ท่านประเสริฐนัก เสร็จกิจการทางเมืองแม่แล้ว ท่านกลับมาอยู่กรุงเทพฯตามเดิม จากการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของหลวงปู่สำลี บรรดาศิษย์ทั้งหลาย ได้ซื้อรถเก๋งกลางเก่ากลางใหม่ถวายหลวงปู่ 1 คัน สำหรับไปไหนมาไหนในกิจนิมนต์และกิจส่วนตัว โดยมีศิษย์คนหนึ่งที่นับถือหลวงปู่มากอาสาเป็นคนขับให้ หลวงปู่สำลีท่านได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ที่ท่าบางกะปิสมัยนั้นยังไม่เจริญ ตึกรามบ้านช่องก็ยังไม่ค่อยมี มีคหบดีผู้หนึ่งชื่อนายทองห่อ เส็งสุธา เป็นคนใจบุญใจกุศลได้มีพระพุทธรูป ( หลวงพ่อแก้ว ) ใหญ่องค์หนึ่งไว้ในครอบครอง หน้าตักกว้าง 1.70 เมตร เนื้อสำริดแท้ ตั้งใจจะถวายให้วัดใดวัดหนึ่ง นายทองหล่อจึงประกาศให้วัดต่างๆรู้ วัดต่างๆทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ต่างก็มาขอรับพระจากนายทองห่อ มาทำพิธีรีตอง จัดเอาผู้คนมามากมายเอารถยนต์มาใส่ ปรากฏว่าไม่มีใคร หรือวัดใดเอาพระพุทธรูปไปได้เลย เมื่อกลับไปถึงบ้าน บ้างก็พากันล้มเจ็บ ถึงแก่ความตายไปก็มีเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจ เมื่อข่าวนี้รู้ถึงหูของหลวงปู่สำลี หลวงปู่สำลีก็ให้คนขับรถพาไปดู ได้พบกับนายทองห่อ เส็งสุธา เจ้าของพระใหญ่ หลวงปู่ก็ออกปากขอ นายทองห่อก็บอกว่า ท่านไม่กลัวตายหรือ คนที่เขามาขอรับท่านไป ท่านไม่ยอมไปด้วย พวกนั้นกลับไปแล้ว ได้ข่าวว่าล้มป่วยตายไปก็หลายคน หลวงปู่บอกกับนายทองห่อว่า บางทีหลวงพ่อท่านไม่อยากอยู่เมืองไทยก็เป็นได้ นายทองห่อ ย้อนถามว่า แล้วท่านจะเอาหลวงพ่อไปไว้เมืองไหน หลวงปู่บอกกับนายทองห่อว่า ฉันจะอาราธนาท่านไปอยู่เมืองกัมพูชา พระวัดบางวัดยังขาดพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างนี้ นายทองห่อได้ตกลงให้กับหลวงปู่ หลวงปู่ผลัดกับนายทองห่อ เส็งสุธา ว่าท่านจะเดินทางไปกัมพูชาเพื่อจะไปหาวัดที่เหมาะสมเสียก่อน แล้วจะมาขอรับไปทีหลัง
ตอนที่ 7 อีกไม่กี่วันต่อมา หลวงปู่ก็เดินทางเข้ากัมพูชา ตะเวนดูหลายวัด ครั้นแล้วก็เห็นว่า วัดทุเลปาดี เป็นวัดที่ยังขาดพระพุทธรูปในอุโบสถ หลวงปู่จึงได้ทำหนังสือถึงเจ้าคณะจังหวัดดาแก้ว เจ้าคณะจังหวัดท่านดีใจมากเหมือนเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีกันทางพระศาสนา จึงได้นัดกำหนดกับหลวงปู่ หลวงปู่จึงได้เดินทางกลับเมืองไทย ทางฝ่ายเจ้าคณะสงฆ์ได้ยื่นหนังสือไปตามขั้นตอนจนถึงเจ้านโรดมสีหนุ เจ้านโรดมสีหนุท่านก็ดีพระทัยมาก ทรงรับสั่งกับอธิบดีกรมศาสนาของกัมพูชา ให้จัดขบวนไปรับที่ชายแดนตามวันเวลาที่กำหนดไว้ ทางฝ่ายหลวงปู่เมื่อได้เดินทางกลับมาเมืองไทยแล้ว ก็ดำเนินการตามขั้นตอนขออนุญาตเอาพระพุทธรูปใหญ่ออกนอกประเทศ เมื่อหลวงปู่ติดต่อกับทางการแล้ว ก็ไปติดต่อกับการรถไฟ หลวงปู่นำรถบรรทุกไปรับพระพุทธรูปใหญ่ ไปขึ้นรถไฟไปลงอรัญประเทศ ข้ามด่านคลองลึกเข้าปอยเปต ทางฝ่ายกัมพูชา พระเจ้านโรดมสีหนุได้ส่งขบวนรถยนต์มารับพระพุทธรูปไปสู่วัดทุเลปาดี ในแขวงเมืองดาแก้ว หลวงปู่เมื่อส่งพระเสร็จแล้ว กลับมาอยู่วัดพลับพลาไชยตามเดิม หลวงปู่อยู่ที่วัดพลับพลาชัยตั้งแต่ปี พ.ศ 2443 จนถึงปี พ.ศ 2485 รวมอยู่ที่วัดพลับพลาชัยถึง 42 ปีเต็ม จะเป็นเพราะหลวงปู่เบื่อกรุงเทพ หรือมีสาเหตุอะไรหลวงปู่ท่านไม่ได้บอก เพียงแต่ท่านพูดว่า พอย่างขึ้นปีพ.ศ. 2486 หลวงปู่ก็ย้ายจากวัดพลับพลาชัยไปวัดนาพล้าว อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ในวัดที่หลวงปู่สำลี ประภาโส ย้ายไปอยู่ได้มีลูกศิษย์ลูกหามากมายที่นั่น เพราะหลวงปู่ท่านมีเมตตาธรรมสูง ท่านต้อนรับญาติโยมตามโอกาส ลูกศิษย์ที่อยู่ทางกรุงเทพฯคิดถึงหลวงปู่มาก ถึงกับพากันไปนิมนต์หลวงปู่เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ท่านไม่ขัดข้องแต่ประการใด พวกลูกศิษย์นิมนต์หลวงปู่ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดใหญ่ศรีสุพรรณ ฝั่งธนบุรี ครั้นเมื่อหลวงปู่มาอยู่ในกรุงเทพฯ บรรดาลูกศิษย์รู้ก็พากันมาหาหลวงปู่อยู่เสมอเสมอ หลวงปู่กลับมาอยู่วัดใหญ่ศรีสุพรรณ เมื่อปีพศ. 2441 หลวงปู่เล่าว่า มีญาติโยมขึ้นท่านมาก เขาถวายปัจจัยมา ท่านก็เก็บไว้บ้าง ทำบุญบ้าง ไปๆมาๆกัมพูชาบ้าง อยู่ๆมาพระผู้ใหญ่ในวัดเห็นว่าหลวงปู่มีเงินมาก ก็มาขอแบ่งเอาไปเฉยๆ จะคิดว่ามาเช่ากุฏิอยู่หรืออย่างไรก็ไม่รู้ หลวงปู่ว่างั้น ท่านไม่ยอมปริปากให้ลูกศิษย์รู้ ต่อมาก็ยิ่งมีลูกศิษย์เพิ่มขึ้นมาก ยิ่งกว่าเมื่ออยู่ที่วัดพลับพลาชัยเสียอีก ศิษย์ของหลวงปู่มิใช่ว่าจะมีแต่คนไทยเท่านั้นคนเมืองสิงคโปร์ยังมาฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงปู่ เขาได้ผ้ายันต์ของหลวงปู่ไว้บูชาค้าขายจึงร่ำรวย เขาจึงพาพวกมาทำบุญทอดผ้าป่ากับท่านอยู่เสมอเสมอ แต่มีพระผู้ใหญ่ในวัดมาขอแบ่งไปทุกครั้ง หลวงปู่ท่านก็ไม่ว่า เขาทำบุญมาท่านก็ทำบุญตอบไป มีคนไทยคนหนึ่งมาให้ท่านดูว่าชีวิตเขาจะยืนยาวไปอีกสักกี่ปี หลวงปู่ก็ทักทายไปตามเกณฑ์ชะตาว่า เดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำวันอังคาร จะเป็นวันหมดอายุ เรื่องก็ปรากฏว่าเป็นไปตามคำทำนายของหลวงปู่จริงๆ พวกพี่น้องคนตายพากันโกรธแค้นหลวงปู่ หาว่าหลวงปู่แช่งให้ญาติเขาตายหรือ ไม่ก็ใช้วิชาปล่อยคุณไสยให้ญาติเขาตาย เพราะเห็นว่าหลวงปู่เป็นพระกัมพูชาผู้เรืองวิชา ตั้งแต่นั้นหลวงปู่ก็สาบานขอเลิกการทำนายดวงชะตามาจนบัดนี้ ดูแต่ฤกษ์นาทีประกอบอาชีพค้าขาย ซื้อที่ดิน เปิดห้างเปิดร้าน ขึ้นบ้านใหม่ อยู่ที่วัดใหญ่ศรีสุพรรณ ต่อมาหลวงปู่ก็คับอกคับใจ จึงออกปากพูดกับลูกศิษย์คนสนิทถึงเรื่องถูกพระผู้ใหญ่เอารัดเอาเปรียบ ลูกศิษย์คนสนิทจึงพูดขึ้นว่า เมื่อหลวงปู่คับใจไม่อยากอยู่ ก็ไปหาที่อยู่ใหม่ก็ได้ บ้านนอกบ้านนามีถมเถไปครับ เอ้า…. เอาอย่างนั้นก็เอา ขับรถออกต่างจังหวัดชอบวัดไหนก็อยู่วัดนั้น ลูกศิษย์คนสนิทก็ขับรถไปทางจังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี ชัยนาท หลวงปู่ไม่พอใจไปทางตะวันออกบ้าง ชลบุรี จันทบุรี ตราด ก็ไม่พอใจอีก มาทางปราจีนบุรี นครนายก วันนั้นเป็นวันสุดท้ายของวันเข้าพรรษา ขึ้นรถตะเวนทั้งวัน หลวงปู่ก็ไม่พอใจ คนขับรถบอกกับหลวงปู่ว่า เย็นจัดแล้วนะหลวงปู่ เออ เย็นก็เย็น ขับรถไปทางสระบุรีหน่อยเถอะวะ เลยขึ้นไปทางปากช่องมีภูเขาเยอะ เดี๋ยวมืดที่วัดไหนจำพรรษาที่วัดนั้นแหละ คนขับรถก็ขับไปตามคำสั่งของหลวงปู่ ตอนนั้นทางสายมิตรภาพเพิ่งทำใหม่ยังไม่เรียบร้อย คนขับรถก็เลยขับรถเลยสระบุรี แก่งคอย พอขับรถมาถึงบ้านซับบอนก็ค่ำพอดี หลวงปู่ลงจากรถเดินขึ้นบนเนิน มองเห็นมีศาลาเก่าหลังหนึ่งมีพระนั่งอยู่ 2 องค์ เข้าไปพูดจาปราศรัยบอกความประสงค์ หลวงตากุหลาบ รุจิจิตร์ ผู้เป็นเจ้าของที่ที่มีอยู่บริเวณแค่ 3 ไร่เศษ ตกลงยอมรับให้หลวงปู่อยู่จำพรรษา ตอนที่ 8 ( ตอนจบ ) หลวงปู่จึงกล่าวคำอธิษฐานเข้าพรรษา ดังต่อไปนี้ “ฮิมสุมี อาวาเส อิมัง เตมาสัง วัสสัง อุเปมิ” แปลว่า ข้าพเจ้าจะเข้าจำพรรษา ณ อาวาสนี้ชั่วไตรมาสหนึ่ง พอรุ่งเช้า ลูกศิษย์ของหลวงปู่ก็ขับรถเข้ากรุงเทพฯ แจ้งข่าวกับบรรดาศิษย์ด้วยกันให้ทราบเรื่อง แล้วไปแจ้งกับเจ้าอาวาสวัดใหญ่ศรีสุพรรณให้ท่านทราบว่า หลวงปู่ได้เข้าจำพรรษาที่สำนักซับบอน แล้วก็ขนของของหลวงปู่ไปซับบอน ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เมื่อศิษย์ทั้งหลายของหลวงปู่สำลีรู้เข้าต่างพากันไปหาท่านมิได้ขาด ศิษย์เมื่อเห็นว่า สำนักสงฆ์ซับบอนไม่มีกุฏิที่ถาวร ก็พากันสละทรัพย์ไม่ใช่คนละเล็กคนละน้อยนะครับ สละกันคนละมากๆ จนก่อสร้างกุฏิขึ้น 2-3 หลัง และติดตามมาเรื่อยๆ
หลวงปู่บอกว่า เมื่อมาอยู่สำนักสงฆ์ซับบอน เมื่อปีพศ. 2511 เดิมเนื้อที่ที่หลวงปู่กุหลาบมอบให้สร้างวัดมีแค่ 3 ไร่เศษ ต่อมาญาติโยมทั้งใกล้และไกลเห็นว่าหลวงปู่เป็นพระที่พูดจริงทำจริง ก็เกิดศรัทธาในตัวท่าน จึงได้ร่วมออกเงินซื้อที่ใกล้เคียงเพิ่มอีกเป็น 5 ไร่เศษ

ลูกศิษย์ทางกรุงเทพได้สร้างเหรียญรุ่นแรกขึ้นในปี พ.ศ 2511 ให้หลวงปู่ปลุกเสก เพื่อจะได้แจกชำร่วยให้กับผู้ที่มาทำบุญ หลวงปู่ก็ไม่ขัดข้อง เหรียญมีลักษณะนั่งเต็มองค์ คล้ายใบโพธิ์ ด้านหลังยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ หลวงปู่ได้รับความร่วมมือจากผู้มีจิตศรัทธาสร้างกุฏิ ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ มาตามลำดับ จากสำนักสงฆ์ก็ได้มาเป็นวัดโดยสมบูรณ์ แต่ยังไม่มีโบสถ์ ครั้นมาถึงปี พ.ศ 2514 อุบัตินิมิตอันมหัศจรรย์ คืนนั้นเป็นวันพฤหัสบดี ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 5 ปีจอ ตรงกับวันที่ 8 เมษายน พ.ศ 2514 หลวงปู่ได้นิมิตมหัศจรรย์ขึ้นว่า ได้เห็นบุษบกลอยมาจากทางทิศอีสาน มีคนโห่ร้องกึกก้องว่า ไชโย ไชโย ชัยชนะที่ใหญ่ที่สุดในโลก หลวงปู่ตกใจจึงร้องถามไปว่า จะมารับอาตมาหรือ เพราะวันนั้นเป็นวันเกิดของหลวงปู่ เขาบอกว่ายังครับ กระผมเอาของดีมาถวายท่าน หลวงปู่ได้มองดูเห็นมีคน 3 คน รูปร่างเหมือนแขกยืนถือมีดใหญ่ มีหนวดเคราน่ากลัวมาก และอีกคนยืนอยู่กลางมือถือพานแว่นฟ้ามีดอกไม้ธูปเทียน แล้วเขาก็ร้องขึ้นพร้อมๆกันว่า ไชโย ไชโย ชัยชนะที่ใหญ่ที่สุดในโลก แล้วเขาก็เดินวนเวียนอยู่บนเนินนั้น 1 รอบ แล้วเขาก็กลับมาที่เก่าพร้อมกับพูดขึ้น ยอมรับนะครับ แล้วเขาก็ปล่อยพานแว่นฟ้าลอยไปตกที่เนินเขานั้น มีเสียงดังปนเปเกิดขึ้น ปรากฏว่าสิ่งของนั้นแตกกระจายมีแสงหลากหลายสีเกิดขึ้น พอรัศมีนั้นหายไปก็ปรากฏว่า มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ สูงประมาณ 40 กว่าเมตร ตั้งประดิษฐานอยู่ ณ ที่นั้น หลวงปู่ตกใจและดีใจมาก พอดีหลวงปู่ตื่นขึ้นและรู้สึกตัวขึ้นมา จึงรู้ว่าท่านได้ฝันไป ต่อจากนั้นหลวงปู่ก็ลุกขึ้นดูนาฬิกาหน้าพระ จึงรู้ว่าเป็นเวลาตี 3 พอดีนั่งคิดอยู่จนสว่าง หลวงปู่เล่าว่าทำให้ท่านจะต้องสร้างพระพุทธรูปองค์ในฝันให้จงได้ แต่ในเวลานั้น หลวงปู่มีเงินอยู่เพียง 131 บาท หลวงปู่เห็นว่ายังไม่สร้าง ก็เลยสวดมนต์ไหว้พระให้ช่วยบันดาลให้ผู้ที่มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนา มาช่วยหลวงปู่สร้างพระใหญ่ให้สำเร็จ เพราะขณะนั้นหลวงปู่ก็ชราภาพมากแล้วอายุถึง 90 กว่าปี กลัวจะสร้างไม่เสร็จสำเร็จ เพราะว่าต้องใช้เงินเป็นล้านล้าน พอดีวันนั้นเป็นวันเสาร์กลางเดือนห้า ได้มีคหบดีคนหนึ่งมาจากกรุงเทพฯแวะมาเที่ยวที่วัด หลวงปู่ได้เล่าเรื่องความฝันให้เขาฟัง คหบดีคนนั้นเกิดมีศรัทธามอบเงินให้หลวงปู่เป็นทุนก่อสร้าง 5,000 บาทหลวงปู่ก็เลยนำปัจจัยนั้นไปซื้ออุปกรณ์มาก่อสร้าง ต่อมาได้มีญาติโยมรู้เข้าก็มาช่วยสมทบทุนก่อสร้าง ร่วมกันซื้ออุปกรณ์ต่างๆ เช่น เหล็ก หิน ปูน ทราย ศิษย์บางคนก็จัดผ้าป่ามาจากกรุงเทพฯบ้าง ต่างจังหวัดบ้าง ค่อยทำค่อยไป การสร้างโบสถ์ของหลวงปู่แปลกที่สุดในประเทศไทย ตั้งฐานล่างเป็นโบสถ์ ส่วนหลังคานั้น สร้างเป็นพระพุทธรูปใหญ่เทินไว้ มีหน้าตัก 30 เมตร องค์พระสูง 45 เมตรเศษ สมเด็จพระสังฆราชองค์เก่า ทรงพระราชทานนามว่า “พระพุทธประพาสมุนินทร์” ( หลวงพ่อใหญ่ ) ได้มีพิธีฝังลูกนิมิต เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ 2528 ใช้เวลาสร้างทั้งหมด 12 ปี จึงสำเร็จ “ปูชา จะ ปูชนียานัง เอตัมมัง คะละมุตตะมัง” การบูชาบุคคลที่ควรบูชาเป็นมงคลอันสูงสุด ผมได้คัดลอกข้อมูลประวัติที่ค้นหาได้เพียงบางส่วน ของหลวงปู่สำลี ปภาโส #พระอริยสงฆ์5แผ่นดิน #เทพเจ้าแห่งผืนป่าดงพญาเย็นในตำนาน นำมาเผยแพร่ เพื่อเผยแพร่บารมีของพระเดชพระคุณท่าน หลวงปู่สำลี ปภาโส หากมีข้อความบางส่วนบางตอน ขาดตกบกพร่อง หรือผิดพลาดไปบ้าง ผมก็ต้องกราบขออภัย มิได้มีเจตนาใดๆทั้งสิ้น ข้อมูลทั้งหมดนี้ ผมได้มาจากหนังสือของวัดซับบอน จัดทำโดย คุณทรงกลด พยัคฆะภรณ์ และครอบครัว ผมต้องขออนุญาตและกราบขอบพระคุณเจ้าของข้อมูลนี้ด้วยนะครับ หากมีข้อมูลใดที่ค้นหาได้เพิ่มเติม จะได้นำมาเสนอในตอนต่อไปครับ
- Advertisement -

ร่วมเป็นผู้สนับสนุน Saraburinews.com

โอนเงิน บัญชีกรุงศรี ฯ 149-914-2926 "หนังสือพิมพ์สระบุรีนิวส์"
เพื่อให้เรามีกำลังในการผลิตเนื้อหาสาระแบบนี้ต่อไป ขอบพระคุณมากครับ

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ LINE สระบุรีนิวส์ ที่นี่


เพิ่มเพื่อน

ข่าวแนะนำ

- Advertisement -
- Advertisement -

ข่าวแนะนำ