กรมอุตุนิยมวิทยา ได้มีประกาศฉบับที่ 2 (244/2563) ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2563 เมื่อเวลา 04.00 น. วันนี้ (27 ตุลาคม 2563) พายุไต้ฝุ่น “โมลาเบ” (พายุระดับ 5) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางมีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 13.4 องศาเหนือ ลองจิจูด 115.5 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลางในวันที่ 28 ตุลาคม 2563 หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ ประกอบกับลมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลทำให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ มีฝนตกหนักกับมีลมแรง สำหรับภาคกลาง จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล คาดว่าจะมีฝนตกหนัก ในช่วงวันที่ 29-30 ตุลาคม 2563 ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ และระวังอันตรายจากลมแรง โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่และสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรงไว้ด้วย

จังหวัดสระบุรี เห็นว่า เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมป้องกัน รับมือกับสถานการณ์ (วาตภัย ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และน้ำป่าไหลหลาก) จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามหนังสือกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ด่วนที่สุด ที่ มท (บกปภ) 0624/ว 4933 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2563 สำหรับอำเภอ ให้แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่ดำเนินการด้วย ดังนี้.

- แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศ ปริมาณฝน และข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด รวมทั้งเตรียมความพร้อมรับมือกับสาธารณภัย สถานการณ์ (วาตภัย ฝนฟ้าคะนองลมกระโชกแรง และน้ำป่าไหลหลาก) ที่จะเกิดขึ้น โดยแนะนำการปฏิบัติตนให้ปลอดภัยจากพายุฤดูร้อน ตรวจสอบบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง จัดเก็บสิ่งของและหาสิ่งปกคลุมผลผลิต ทางการเกษตร เป็นต้น หากมีข้อบ่งชี้จะเกิดสาธารณภัยดังกล่าว ให้รีบแจ้งเตือนภัยประชาชนในพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงตามบัญชีสถานีเตือนภัยล่วงหน้าน้ำท่วมฉับพลัน-ดินถล่ม Early Warning (กรมทรัพยากรน้ำ) ได้แก่ อำเภอแก่งคอย (ท่ามะปราง/ทับกวาง/ห้วยแห้ง/ท่าคล้อ) อำเภอพระพุทธบาท (พุกร่าง/เขาวง) อำเภอมวกเหล็ก (มวกเหล็ก/ลำสมพุง/ลำพญากลาง/หนองย่างเสือ) (ตามเอกสารที่แนบ)
- วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์จากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ สภาวะอากาศ ปริมาณฝนและปัจจัยสภาพความเสี่ยงในพื้นที่ เพื่อประสานและบูรณาการหน่วยงานทหาร (ตามบัญชีการแบ่งมอบภารกิจของหน่วยทหารในพื้นที่รับผิดชอบอำเภอ ในแผนเผชิญอุทกภัยจังหวัดสระบุรี) (ตามเอกสารที่แนบ) เครือข่าย ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เตรียมพร้อมทรัพยากร เครื่องจักรกลสาธารณภัย รวมถึงกำลังเจ้าหน้าที่ให้มีความพร้อมบรรเทาภัยปฏิบัติงาน อำนวยความสะดวก และให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ ให้อำเภอส่งรายชื่อผู้รับผิดชอบหลัก 1 ท่าน เพื่อประสานการปฏิบัติ ในกลุ่ม Line “อุทกภัย/ภัยแล้งสระบุรี 2563” ตาม QR Code ที่แนบมาพร้อมนี้ หากเกิดสถานการณ์ และส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินในพื้นที่ ให้รายงานจังหวัดสระบุรีทราบทางโทรศัพท์. 036-340722-5/โทรสาร. 036-340721 และกลุ่ม Line ดังกล่าวด้วย.
■ผู้อำนวยการจังหวัดสระบุรี
■ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2563.
ข้อมูล ห้องข่าว ปภ.สระบุรี.
Cr.ศูนย์วิทยุ วัฒนะ สระบุรี