ด่วน!!! ขอประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง ขอความร่วมมือสถานประกอบกิจการจัดให้ลูกจ้างได้หยุดงานเป็นกรณีพิเศษ

ถอดสาระจากประกาศได้เป็นข้อ ๆ ดังนี้
๑) มติ ครม. ให้วันพฤหัสที่ ๑๙ และวันศุกร์ที่ ๒๐ พย. ๖๓ เป็นวันหยุดราชการ และ
๒) ให้เลื่อนวันหยุดวันคล้ายวันพระราชบรมสมภพของในหลวง ร.๙ จากวันจันทร์ที่ ๗ ธค. เป็นศุกร์ที่ ๑๑ ธค. ๖๓
๓) ผลจากการหยุดข้างต้นทำให้มีวันหยุดต่อเนื่องกัน ๒ ช่วง คือ
ก) ตั้งแต่วันที่ ๑๙ ถึง ๒๒ พย. ๖๓ กับ
ข) ตั้งแต่วันที่ ๑๐ ถึง ๑๓ ธค.๖๓
๔) การมีวันหยุดดังกล่าวประกาศเขียนไว้ชัดว่าเพื่อ “กระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ”
๕) กรมฯ “ขอความร่วมมือ” ให้กำหนดวันตามข้อ ๑) และข้อ ๒) ข้างต้นเป็นวันหยุดกรณีพิเศษ หรือจัดวันหยุดพักผ่อนประจำปี” ในช่วงเวลาดังกล่าว โดยจ่ายค่าจ้างในวันหยุดดังกล่าวแก่ลูกจ้าง
ข้อสังเกต
๑) ประกาศดังกล่าวแจ้งให้ทราบว่าจะมี “วันหยุดราชการ” ซึ่งนายจ้างอาจนำไปประกาศเป็นวันหยุดตามประเพณีได้
๒) ประกาศนี้ไม่ใช่บังคับ หรือยกเลิกกฎหมาย เพราะประกาศซึ่งมีศักดิ์ทางกฎหมายต่ำกว่า พรบ. จะไปยกเลิก พรบ. ไม่ได้ เช่นนี้ กรมจึงใช้คำว่า “ขอความร่วมมือ” (ไม่ใช่บังคับ)
เช่นนี้ หากนายจ้างจัดวันหยุดตามประเพณีครบ ๑๓ วันแล้ว หรือวันหยุดพักผ่อนประจำปีครบ ๖ วันแล้วตาม พรบ.ค้มครองแรงงานฯ จะไม่จัดเพิ่ม ประกาศฉบับนี้ก็ไม่มีสภาพบังคับ
๓) ประกาศฉบับนี้ยังได้ขอความร่วมมือไปยังนายจ้างอาจกำหนดวันดังกล่าวเป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปี (หรือที่มักเรียกกันว่าลาพักร้อน) อย่างไรก็ตาม หากนายจ้างได้จัดให้มีวันหยุดพักผ่อนประจำปีไปแล้วก็อยู่ในดุลพินิจจะจัดเพิ่มเติมหรือไม่ก็ได้
๔) ประกาศฉบับนี้อยากให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ หากนายจ้างและลูกต้งการช่วยชาติในยามเงินฝืด ก็อาจทำข้อตกลงกันให้วันดังกล่าวให้ลูกจ้างหยุด โดยไม่รับค่าจ้าง ก็สามารถทำได้ หลักการคล้ายๆ การลาโดยไม่รับค่าจ้าง